วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

คำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ




คำที่มาจาก "ภาษาฝรั่ง" ทั้งหลาย (ไม่นับคำเลียนเสียงดั้งเดิมที่เขียนโดยการลากเข้าความเช่น Mr.Rankin เขียนเป็นนายแร้งกิน) เราใช้โดยการทับศัพท์ เรียกว่าถ่ายอักษรตัวต่อตัว เมื่อ "ภาษาฝรั่ง" เป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์กำกับ และจะออกเสียงสูงต่ำอย่างใด ความหมายของคำก็มิได้เปลี่ยนไปด้วย

ภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งใน "ภาษาฝรั่ง" ที่เราใช้คำทับศัพท์มากที่สุดก็เข้าลักษณะเดียวกัน ถ้ากำหนดให้ใช้วรรณยุกต์กำกับ ก็เท่ากับกำหนดเสียงอ่านตายตัว คงจะไม่สะดวกนัก ตรงที่ต้องรับรู้แน่ชัดและกำหนดได้แน่ชัดก่อนที่จะใช้วรรณยุกต์ว่าคำนั้นๆเป็นเสียงใด ในเมื่อแต่ละคำมิได้มีระดับเสียงประจำคำอย่างภาษาไทย เช่น จะออกเสียงว่า บอย หรือ บ๋อย ก็ยังคงเท่ากับคำว่า boy


อีกประการหนึ่ง คำหลายพยางค์ในภาษาอังกฤษ จะต้องลงเสียงหนักที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่งเสมอ เช่น paper computer (ลงเสียงหนักตรงพยางค์ที่ขีดเส้นใต้) เมื่อนำมาทับศัพท์มักจะลงเสียงหนักที่พยางค์ท้าย และมักจะออกเสียงวรรณยุกต์โท เป็น เปเป้อ คอม-พิว-เต้อ หากมีการเขียนวรรณยุกต์กำกับ เท่ากับกำหนดเสียงอ่านตายตัว ทำให้ลงเสียงหนักผิดตำแหน่ง เป็นผลถึงความหมายของคำ จะเป็นปัญหาในการสื่อสารกับเจ้าของภาาาได้ เราจึงไม่ใช้วรรณยุกต์กับคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และอาจจะหมายรวมถึงภาษาฝรั่งทั้งหลายด้วย จึงพิจารณาเท่าที่จำเป็น

มีเหตุผลสมควรอนุโลมให้คำทับศัพท์ ใช้รูปวรรณยุกต์คือ คำนั้นๆเขียนโดยมีรูปวรรณยุกต์กำกับมาแต่เดิม นานจนติดอยู่ในภาษาแล้ว อย่างคำว่า โน้ต เชิ้ต บรั่นดี ก๊อก ปั๊ม ก๊าส เค้ก เป็นต้น อีกประการหนึ่งคือ ถ้าไม่เขียนวรรณยุกต์กำกับ รูปคำจะซ้ำกับคำอื่น อาจทำให้เข้าใจความหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือเสียความไปได้ อย่างคำโฆษณาน้ำอัดลม Coke ให้เขียนโค้ก เป็น"ส่งโค้กส่งยิ้ม ไม่ให้เขียนเป็นโคกเป็น"ส่งโคกส่งยิ้ม กันมิให้มีผู้แปลเป็นอื่น หรือคำว่า coma (ภาวะหมดสติขั้นรุนแรง เกิดจากโรค จากการบาดเจ็บ หรือจากยาพิษ) ก็ให้เขียนเป็น "โคม่า" ไม่ใช่ "โคมา" อันอาจทำให้หมายถึง"วัวมา"ได้ แต่ quota เขียน "โควตา" ไม่เขียน "โควต้า" เพราะใควไม่มีความหมายในภาษาไทย จึงไม่ต้องห่วงผู้อ่านจะคิดว่าเป็นคำไทยแล้วออกเสียงอย่างคำไทย

ที่มา : หนังสือ ครบเครื่องเรื่องวรรณยุกต์ ของอาจารย์ พิศศรี กมลเวชช
ขอบคุณอาจารย์มากครับสำหรับหนังสือและลายเซนต์ ซึ่งทำให้ผมได้ใช้คำทับศัพท์และการใช้เครื่องหมายต่างๆในภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนำไปใช้กับงานเขียนของผมได้เป็นอย่างดี ทำให้เดี๋ยวนี้จากคำว่า เวอร์ชั่น (Version) ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็น"เวอร์ชัน" และอีกหลายๆคำ รวมไปถึงการใช้เครื่องหมาย"ๆ"กับการเว้นวรรค ขอบคุณมากๆครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น